วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กต้องเรียน

ดังกล่าวแล้วว่าเด็กปฐมวัยเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสาระวิทยาศาสตร์ ซึ่งสาระวิทยาศาสตร์ที่เด็กปฐมวัยเรียนประกอบด้วยสาระต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนี้

1. สาระเกี่ยวกับพืช ได้แก่ พืช เรื่องที่นำมาเรียนได้แก่ ต้นไม้ ดอกไม้ ผลไม้ การปลูกพืช การใช้ประโยชน์จากพืช

2. สาระเกี่ยวกับสัตว์ ได้แก่ ประเภทของสัตว์ สวนสัตว์ การเลี้ยงสัตว์

3. สาระเกี่ยวกับฟิสิกส์ เช่น การจม การลอย ความร้อน ความเย็น

4. สาระเกี่ยวกับเคมี ได้แก่ รสผลไม้ การละลายของน้ำแข็ง

5. สาระเกี่ยวกับธรณีวิทยา ได้แก่ ดิน ทราย หิน ภูเขา

6. สาระเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ได้แก่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาว ฤดูกาล

               หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดสาระทางวิทยาศาสตร์ไว้ในหลักสูตร เรียกว่า ธรรมชาติรอบตัว โดยกำหนดให้เด็กเรียน สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลกที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ เช่น ฤดูกาล กลางวัน กลางคืน ฯลฯ

หลักการจัดกิจกรรม

ประสบการณ์วิทยาศาสตร์เป็นการสร้างเด็กให้เรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลักการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กที่สำคัญมีดังนี้ (Seefeldt, 1980 : 236)

1. เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก ประสบการณ์ที่เลือกมาจัดให้แก่เด็ก ควรเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก โดยใกล้ทั้งเวลา เหมาะสมกับพัฒนาการ ความสนใจและประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็ก

2. เอื้ออำนวยให้แก่เด็กได้กระทำตามธรรมชาติของเด็ก เด็กมีธรรมชาติที่ชอบสำรวจ ตรวจค้น กระฉับกระเฉง หยิบโน่นจับนี่ จึงควรจัดประสบการณ์ที่ใช้ธรรมชาติในการแสวงหาความรู้

3. เด็กต้องการและสนใจ ประสบการณ์ที่จัดให้เด็กต้องสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและอยู่ในความสนใจของเด็ก ดังนั้นหากบังเอิญมีเหตุการณ์ที่เด็กสนใจเกิดขึ้นในชั้นเรียน ครูควรถือโอกาสนำเหตุการณ์นั้นมาเป็นประโยชน์ในการจัดประสบการณ์ที่สัมพันธ์กันในทันที

4. ไม่ซับซ้อน ประสบการณ์ที่จัดให้นั้นไม่ควรเป็นประสบการณ์ที่มีเนื้อหาซับซ้อน แต่ควรเป็นประสบการณ์ที่มีเนื้อหาเป็นส่วนเล็ก ๆ และจัดให้เด็กทีละส่วน ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ของเด็กส่วนใหญ่จะเป็นพื้นฐานความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา ทั้งนี้พื้นฐานต้องเริ่มจากระดับง่ายไม่ซับซ้อนไปสู่ระดับของการสำรวจตรวจค้น และระดับของการทดลอง ซึ่งเป็นระดับที่สร้างความเข้าใจมโนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์

5. สมดุล ประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จัดให้เด็กควรมีความสมดุล ทั้งนี้เพราะเด็ก ต้องการประสบการณ์ในทุกสาขาของวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้พัฒนาในทุก ๆ ด้าน ซึ่งแม้ว่าเด็กจะสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืชและสัตว์ ครูก็ควรจัดประสบการณ์หรือแนะนำให้เด็กสนใจวิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ

กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจวิทยาศาสตร์ พัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น หลักการจัดกิจกรรมมีอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้ (ประสาท เนืองเฉลิม, 2546 : 28)

1. มีการกำหนดจุดประสงค์อย่างชัดเจน

2. ครูเป็นผู้กำกับให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้

3. กิจกรรมที่จัดขึ้นสนองตอบความสนใจของเด็ก

4. สอดคล้องกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน

5. กิจกรรมที่จัดต้องส่งเสริมให้เด็กมีภาวะสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการคิดของเด็ก

            กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องเป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาปัญญาด้วยความสนุก เด็กต้องได้ปฏิบัติจริงและเป็นไปได้ เด็กควรเรียนรู้จากปรากฏการณ์ธรรมชาติจริงที่มีความเป็นไปได้ เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการสัมผัสและการกระทำ การเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นการเรียนรู้โดยการลงมือทำงาน เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ผู้เรียนได้ทบทวนเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง เกิดจากมุมมองจากการได้สัมผัส ได้รับรู้ประสบการณ์ของตน ประสบการณ์นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่า กระตุ้นให้เกิดการคิดและการเรียนรู้ (Burnard, 1996 : 15 - 19) การให้เด็กทำกิจกรรมเป็นการเสริมสัมผัสและการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่สำคัญต้องเน้นการคิด การแก้ปัญหา การแสดงออกถึงพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของเด็ก ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรม ต่อไปนี้

มีความสนใจเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

มีความอยากรู้อยากเห็น

มีพัฒนาการทางภาษาอย่างมาก

มีความสนใจค้นคว้าสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เด็กสัมผัส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น